คือ กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา, กรรมฐานทำให้เกิดการรู้แจ้งเห็นจริง หมายถึงการปฏิบัติธรรมที่ใช้สติเป็นหลัก
วิปัสสนากรรมฐานบำเพ็ญได้ โดยการพิจารณาสภาวธรรมหรือนามรูป คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะอินทรีย์ให้เห็นตามความเป็นจริง คือ เห็นด้วยปัญญาว่าสภาวธรรมเหล่านี้ ตกอยู่ในสามัญลักษณะหรือไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
วิปัสสนากรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่มุ่งอบรมปัญญาเป็นหลักคู่กับ สมถกรรมฐาน ซึ่งมุ่งบริหารจิตเป็นหลัก ในคัมภีร์ทางพระศาสนาทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาทั่ว ๆ ไปมักจัดเอาวิปัสสนาเป็นแค่ สุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา เพราะในวิภังคปกรณ์พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างนั้น ทั้งนี้ก็ยังพอจะอนุโลมเอาวิปัสสนาว่าเป็นภาวนามยปัญญา[ต้องการอ้างอิง] ได้อีกด้วย เพราะในฎีกาหลายที่ท่านก็อนุญาตไว้ให้ ซึ่งท่านคงอนุโลมเอาตามนัยยะพระสูตรอีกทีหนึ่ง และในอรรถกถาปฏิสัมภิทามรรคท่านก็อนุโลมให้เพราะจัดเข้าได้ในภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุข้อ 10.
รายละเอียดวิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน หรือการเจริญปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ได้แก่ การปฏิบัติตามสติปัฏฐาน 4 ดังบรรยายไว้โดยละเอียดในมหาสติปัฏฐานสูตร ในพระไตรปิฎก
ระหว่างปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อผู้ปฏิบัติกำลังมนสิการขันธ์ 5 อย่างหนึ่งอย่างใดอยู่โดยไตรลักษณ์ ผู้ปฏิบัติอาจเกิดวิปัสสนูปกิเลส (คือ อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา 10 อย่าง) ชวนผู้ปฏิบัติให้เข้าใจผิด คิดว่าตนได้มรรคผลแล้ว คลาดออกนอกวิปัสสนาวิถีได้
เนื้อหา
อารมณ์ของวิปัสสนา
ตามหลักการที่พระพุทธเจ้าและพระอรรถกถาจารย์ได้วางไว้ เราสามารถทราบอารมณ์ของวิปัสสนาได้ด้วยการไล่ตามวิถีจิตไปตามกฎเกณฑ์และตามหลักฐาน ซึ่งจะพบว่ามีทั้งปรมัตถ์และบัญญัตติเป็นอารมณ์ กล่าวคือ เมื่อคิดถึงวิปัสสนาภูมิ เช่น ธรรมะ 201 เป็นต้นตอนที่ทำวิปัสสนาอยู่ ก็มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์, แต่เมื่อนึกถึงพระพุทธพจน์ เช่น ชื่อของธรรมะ 201 หรือ อาการของขันธ์เช่น ไตรลักษณ์ หรือ อิริยาบถต่างๆ เป็นต้น เป็นเครื่องกำหนด วิปัสสนาก็จะมีบัญญัติเป็นอารมณ์.วิปัสสนาภูมิ ตามที่แสดงไว้ในวิสุทธิมรรคนั้น ได้แก่ ธรรมะ 201 เป็นต้น เช่น
วิปัสสนาภูมิที่ยกมานี้ ท่านเอามาจากพระไตรปิก เช่นจาก สติปัฏฐานสูตร (ม.มู.) สังยุตตนิกาย (สุตฺต.สํ.) วิภังคปกรณ์ (อภิ.วิ.) เป็นต้น. ที่ทราบได้ว่า วิสุทธิมรรคยกมาพอเป็นตัวอย่าง เพราะท้ายของวิปัสสนาภูมิทั้ง 6 นี้ มี "อาทิ"ศัพท์ (แปลว่า เป็นต้น) อยู่ด้วย. ฉะนั้น ในปรมัตถมัญชุสา วิสุทธิมรรคมหาฎีกา จึงอธิบายอาทิศัพท์ ว่า หมายถึงอาหาร 4 เป็นต้นด้วย และกล่าวต่อไปอีกว่า ให้ท่านผู้อ่านเทียบเคียงธรรมะหมวดอื่นๆ ตามนัยนี้ได้อีก.
ในพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกานั้น จะไม่มีการจำกัดให้วิปัสสนามีแต่ปรมัตถ์เป็นอารมณ์ เพราะในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาก็มีทั้งจุดที่ท่านแสดงให้วิปัสสนามีอารมณ์เป็นปรมัตถ์และเป็นบัญญัติก็มี ส่วนมติว่า "วิปัสสนามีอารมณ์เป็นปรมัตถ์เท่านั้น" เป็นมติของอาจารย์ชาวพม่ารุ่นหลังซึ่งเชิญเข้ามาในสมัยของพระอาจารย์ อาจ อาสภมหาเถระ มีอาจารย์เตชิน และอาจารย์สัทธัมมโชติกะ เป็นต้น. ในฝ่ายไทยเมื่อตรวจสอบตามสายวัดป่า ก็พบว่า ไม่มีข้อบัญญัติว่า "วิปัสสนามีอารมณ์เป็นปรมัตถ์เท่านั้น"มาแต่เดิม.
การเรียนวิปัสสนากรรมฐาน
การเรียนวิปัสสนากรรมฐานนั้น ต้องเรียนศีลและสมาธิจนปฏิบัติได้มาก่อน หรืออาจเรียนไปพร้อมกันก็ได้ ซึ่งอาจจัดช่วงของการเรียนตามมหาสติปัฏฐานสูตรอรรถกถาได้เป็น 2 ช่วงใหญ่ คือ- ช่วงปริยัตติ
- อุคคหะ คือ การท่อง เพื่อทำให้จำวิปัสสนาภูมิ อันได้แก่ ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท อาหาร เป็นต้นได้ โดยเลือกท่องเฉพาะส่วนที่สนใจก่อนก็ได้และต้องจำให้คล่องปากขึ้นใจพอที่จะ คิดได้เองโดยไม่ต้องเปิดหนังสือ.
- ปริปุจฉา คือ การหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้ได้รายละเอียดของวิปัสสนาภูมินั้น ๆ เพิ่ม ซึ่งอาจจะสงสัย หรือ ติดขัดอยู่ โดยอาจจะเปิดหนังสือค้น หรือไปสอบถามจากอาจารย์ผู้เชียวชาญชำนาญในสาขานั้น ๆ ก็ได้.
- สวนะ คือ การฟัง หรือ อ่านคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก เพื่อทำความเข้าใจหลักธรรมะโดยรวม ให้สามารถมองเห็นภาพรวมได้ชัดเจน.
- ธารณะ คือ การจำธรรมะ ตามที่ได้อุคคหะ ปริปุจฉา สวนะมาได้ เพื่อจะนำไปพิจารณาในช่วงปฏิบัติต่อไป.
- ช่วงปฏิบัติ
- สังวระ คือ การปฏิบัติศีล.
- สมาปัตติ คือ การปฏิบัติสมาธิให้ได้ อุปจาระหรืออัปปนา.
- สัมมสนะ คือ การปฏิบัติวิปัสสนา คือ พิจารณาปัจจัตตลักษณะและสามัญญลักษณะด้วย การคิดหน่วงเอาธรรมะที่ได้ปริยัตติมานั้นมาแยกแยะหาความสัมพันธ์กันด้วยปัจ จัตลักษณะ และเพ่งไตรลักษณ์ ในธรรมะที่ได้ปริยัตติมานั้นอีก ด้วยวิปัสสนาญาณซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า ธัมมนิชฌานักขันติญาณ. ในที่นี้ เฉพาะสัมมสนะนี้เท่านั้นที่เป็นช่วงปฏิบัติวิปัสสนา.
ประโยชน์ของสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน
สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานมีประโยชน์มาก คือ- ทำคนให้ฉลาด เพราะจะรู้จักทั้งบัญญัติและปรมัตถ์เป็นอย่างดี ละเอียดรอบคอบขึ้นมาก.
- ทำคนให้มีศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม
- ทำคนให้สนิทสนมกลมกลืนกัน กรุณาเอ็นดูสงสารกัน พลอยยินดีอนุโมทนาสาธุการเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี
- ทำคนให้เว้นจากเบียดเบียนกัน เว้นจากการเอารัดเอาเปรียบกัน
- ทำคนให้รู้จักตัวเอง และรู้จักปกครองตัวเอง
- ทำคนให้ว่านอนสอนง่าย ไม่มานะถือตัว ไม่เย่อหยิ่งจองหอง
- ทำคนให้หันหน้าเข้าหากัน เพราะต่างฝ่ายต่างลดทิฏฐิมานะลง
- ทำคนให้หนักแน่นในกตัญญูกตเวทิตา
- ทำคนให้เป็นผู้ประเสริฐ เพราะเหตุว่า การปฏิบัติธรรมนี้ย่อมเป็นไปเพื่อคุณสมบัติเหล่านี้ คือ
- เพื่อละนิวรณ์ 5
- เพื่อละกามคุณ 5
- เพื่อหัดให้คนเป็นผู้รู้จักประหยัด
- เพื่อละอุปาทานขันธ์ 5
- เพื่อละสังโยชน์เบื้องต่ำ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาบาท
- เพื่อละคติ 4 คือ นรกภูมิ เปตติวิสัยภูมิ อสุรกายภูมิ และดิรัจฉานภูมิ เมื่อได้ญาณ 16 ในวิปัสสนากรรมฐานโดยเด็ดขาดไม่ว่าจะเกิดอีกกี่ชาติ (พระโสดาบันเกิดไม่เกิน7ชาติเป็นอย่างมาก) ส่วนสมถกรรมฐานเมื่อได้ฌานที่ 1 ขึ้นไปก็อาจนำไปเกิดในพรหมโลกได้แต่ก็ยังคงเวียนว่ายมาเกิดในอบายถูมิ4ได้ อีกในชาติต่อๆไป ดังนั้น สมถกรรมฐานจึงไม่ใช่การปฏิบัติที่ละ อบายภูมิ 4 ได้โดยเด็ดขาด
- เพื่อละความตระหนี่ 5 คือ ตระหนี่ที่อยู่ ตระหนี่ตระกูล ตระหนี่ลาภ ตระหนี่วรรณะ ตระหนี่ธรรม
- เพื่อละสังโยชน์เบื้องบน คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา
- เพื่อละตะปูตรึงใจ 5 คือ สงสัยในพระพุทธ สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ สงสัยในสิกขา ความโกรธไม่พอใจในเพื่อนพรหมจรรย์
- เพื่อละเครื่องผูกพันจิตใจ 5 คือ ไม่ปราศจากความชอบใจทะยานอยากในกาม ในรูป ความสุขในการกิน การนอน การรักษาศีลเพื่อเทพนิกาย
- เพื่อก้าวล่วงความโศกเศร้าเสียใจ (ทุกข์ทั้งหลาย) ดับทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน
- อานิสงส์อย่างสูงให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ อย่างกลางก็ให้สำเร็จเป็นพระอนาคามี สกทาคามี โสดาบัน อย่างต่ำไปกว่านั้นที่เป็นสามัญ ก็เป็นผู้ที่มีคติเที่ยงที่จะไปสู่สุคติ
- ชื่อว่า ได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยปฏิบัติบูชา
- ชื่อว่า เป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า
- ชื่อว่า เป็นผู้ได้บำเพ็ญสิกขา 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
- ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท เพราะมีสติอยู่กับรูปนามเสมอ ความไม่ประมาทนั้นคือ อยู่อย่างมีสตินั่นเอง
- ชื่อว่า ได้เป็นผู้ทรงธรรม
- ชื่อว่า ได้เป็นผู้ปฏิบัติถูกต้อง
- ชื่อว่า ได้ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 ทางสายกลาง
- ชื่อว่า ได้เข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง คือถึงด้วยอำนาจแห่งการปฏิบัติ คือ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดกับการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ตั้งแต่ ภังคญาณ เป็นต้นไป จนถึง มรรคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. 9 ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พุทธธรรม".
- พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิเถร ป.ธ.9) "วิปัสสนากรรมฐาน" ภาค 1 เล่ม 1. (รวบรวมจากบรรยายถาม-ตอบทางวิทยุกระจายเสียง ในปีพ.ศ. 2503-2507)
แหล่งข้อมูลอื่น
- มหาสติปัฏฐานสูตร จากพระไตรปิฎก (ภาษาไทย) ในวิกิซอร์ซ
- ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ สัมพันธ์ — หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น